วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการ 4 ม.-ผลกระทบจากการให้อาหารสัตว์



ผลกระทบจากการให้อาหารสัตว์ป่า (ให้อาหาร = ให้ความตาย)

1. อาหาร อาหารบางชนิดคนกินได้ สัตว์กินได้ อาหารบางชนิดคนกินได้ สัตว์กินไม่ได้ ดังนั้น อาหารที่ไม่เหมาะสม ที่คนให้สัตว์ป่ากินนั้น อาจทำให้สัตว์ป่าเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด หรืออาหารเป็นพิษได้ เช่น กวางกินถุงแกง ขนมปัง เนื้อย่าง ขนม เป็นต้น

2. พฤติกรรมเปลี่ยน พฤติกรรมสัตว์ป่าจะเปลี่ยนไป โดยการออกมาใกล้คนเพื่อขออาหารมากขึ้น อาจเกิดอันตรายในยามที่สัตว์ป่าออกมาขออาหารบนถนนหรือบ้านเรือน ทำให้เจ็บทั้งคนเจ็บทั้งสัตว์ป่า

3. การหากิน พฤติกรรมการหากินก็เปลี่ยนไป ซึ่งตรงประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มักใช้ความคิดและความรู้สึกของตัวเองมาเป็นที่ตั้งว่า สัตว์ป่าอาหารน้อย อาหารขาดแคลน ไม่มีอาหารเพียงพอที่จะกิน ทำให้สัตว์ป่าติดใจในรสชาติอาหารที่คนให้ สุดท้ายก็กินอาหารในป่าไม่เป็น เมื่อหาอาหารเองไม่เป็น ก็อาจเกิดการแก่งแย่ง ต่อสู้กันเอง เพื่อขออาหาร หรือ เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย ต่อสู้กันเองบาดเจ็บ หรือไม่ก็เข้าทำร้าย แย่งของจากคนที่ถืออาหารจนอาจเกิดอันตรายทั้งคนและสัตว์ตามมา

4. คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่า การที่คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่า และการนำอาหารจากคนให้สัตว์ป่านั้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำโรคที่อาจติดต่อกันได้ ระหว่างคนและสัตว์ป่า ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าคนก็มีโรค ในสัตว์ป่าก็มีโรค โรคในคนติดสัตว์ป่าทำให้ตายได้ และโรคในสัตว์ป่าติดในคนก็ทำให้ตายได้ เช่นกัน โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปาราสิต เป็นต้น

5. ขยะหรือเศษอาหาร ขยะหรือเศษอาหารที่มากับอาหารที่ให้สัตว์ป่ากิน หรือสัตว์ป่ามาแย่งกินนั้น หากสัตว์ป่ากินเข้าไป จะทำให้เกิดการอุดตันหลอดอาหาร กระเพาะ หรือลำไส้ อันเป็นสาเหตุทำให้สัตว์เสียชีวิตได้

6. ทำลายสิ่งแวดล้อม ขยะหรือเศษอาหารที่เหลือจากการให้อาหารสัตว์ป่านั้น จะย่อยสลายยาก เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา

7. ขับรถเร็ว ถนนมักเป็นจุดที่สัตว์ป่าออกมาขออาหารที่นักท่องเที่ยวให้อยู่เป็นประจำ ทำให้กีดขวางการจราจร และหากยังมีการขับรถด้วยความเร็ว ไม่ระมัดระวังก็ถือว่าเป็นจุดที่อันตรายจุดหนึ่ง อาจเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า และคนได้รับบาดเจ็บได้

8. พืชต่างถิ่น พืชและผลไม้บางชนิดที่ให้สัตว์ป่ากินเข้าไป อาจเป็นพืชต่างถิ่นที่ไม่เคยมีในป่ามาก่อน พอสัตว์ป่ากินเข้าไปแล้วถ่ายเอาเมล็ดออกมา ก็จะแพร่เจริญเติบโต อาจส่งผลกระทบต่อพืชประจำถิ่นที่มีอยู่เดิมและรบกวนระบบนิเวศ

9. ห่วงโซ่อาหาร เมื่อสัตว์เหยื่อในห่วงโซ่อาหาร เช่น เก้ง กวาง ออกมาใกล้คนเพื่อรอรับอาหารจากคนมากขึ้น ก็จะเป็นการชักนำให้สัตว์ผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร เช่น เสือ หมาใน ซึ่งนอกจากจะกระทบห่วงโซ่อาหารแล้ว การออกมาล่าสัตว์เหยื่อที่อยู่ใกล้คนมากขึ้นอาจเกิดอันตรายแก่คน และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ได้

10. รักตัวเองบ้าง ในสภาวะโลกร้อน นอกจากภัยธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มนุษย์จะต้องได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์ป่าและคนนั้นจะเกิดขึ้นควบคู่กัน วิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คืออย่างไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ “ธรรมชาติก็คืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย หากธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้น หากรักตัวเองก็อย่างทำร้ายตัวเอง หากทำร้ายธรรมชาติก็เท่ากับทำร้ายตัวเอง”

ขอบคุณข้อมูลจาก นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น