วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

กำหนดการ-เที่ยวสูตรใหม่ฯ

โครงการคืนต้นลาน... สู่ป่า
“ท่องเที่ยวสูตรใหม่ ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม”
วันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2554 เส้นทางกรุงเทพมหานคร – ปราจีนบุรี /อุทยานแห่งชาติทับลาน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2554
07.00 น. ลงทะเบียน ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง / ผู้ร่วมเดินทางและสื่อมวลชน
08.00 น. ออกเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพงด้วยตู้พิเศษ ดีเซลรางขบวนที่ 281 พร้อมจักรยาน...เพื่อนคู่ใจ
รับประทานอาหารเช้าแบบกล่อง / ชี้แจงกฎกติกาการแข่งขัน “คาราวานจักรยานคืนลาน... สู่ป่า”
(09.30 น. ลงทะเบียนสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ ณ สถานีรถไฟปราจีนบุรี)
10.46 น. เดินทางถึงสถานีรถไฟปราจีนบุรี / ขนย้ายสัมภาระ
1050 น. ร่วมพิธีเปิดโครงการคืนต้นลาน...สู่ป่า “เที่ยวสูตรใหม่ ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม”
11.00 น. ออกเดินทางพร้อมกัน มุ่งหน้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดปราจีนบุรี
เรียนรู้เรื่องแพทย์แผนไทยและสมุนไพร การแพทย์ทางเลือกเสริมสุขภาพคนไทย
ณ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
13.00 น. ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่อำเภอประจันตคาม / รับประทานอาหารกลางวัน
14.00 น. - เยี่ยมชมแหล่งรวบรวมของรักของสะสม “ตะเกียงโบราณนับหมื่น” ณ พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
15.00 น. เดินทางสู่ชายขอบผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ แนวกันชนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ “แก่งหินเพิง”
ร่วมทดสอบกำลังกาย-ใจ อาทิ จิ้งจอกเวหา สะพานเชือก ด่านเชือก สะพานสลิง (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
- ราคาพิเศษสำหรับกิจกรรมขับรถ ATV รอบใหญ่รอบละ 240 บาทและเพ็นท์บอลล์ คนละ 240 บาท
18.00 น. ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ พร้อมประกาศผลคะแนนแรลลี่/คาราวานจักรยานคืนลาน... สู่ป่า
20.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2554
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า
08.30 น. เก็บสัมภาระ / เตรียมพร้อมออกเดินทาง
08.45 น. ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ในรูปแบบคาราวานจักรยาน
09.30 น. ร่วมกิจกรรมปลูกต้นลาน... สู่ป่า
ฐานที่ 1 ยิงแม่นๆ ฝากต้นลานคืนป่า
ฐานที่ 2 ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม
ฐานที่ 3 จากลูกลาน สู่ลานต้นแม่
เสร็จสิ้นโครงการคืนต้นลาน.. สู่ป่า
13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
14.00 น. ออกเดินทางในรูปแบบคาราวานจักรยานถึงสถานีรถไฟกบินทร์บุรี
15.39 น. ออกเดินทางจากสถานีรถไฟกบินทร์บุรี เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
ถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) เวลาประมาณ 19.55 น.
หมายเหตุ
1. ลงทะเบียนรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง วันที่ 5 มิถุนายน 2554 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
2. ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม/สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก โทร.0-3731-2282 หรือ นายสุรศักดิ์ จ้ายจันทึก โทร.08-7005-3872 ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2554 รับสมัครจำนวนจำกัด
3. ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 2 มื้อ และที่พัก 1 คืน เป็นเงิน 650 บาท/คน
4. ผู้สมัครทุกท่านจะได้รับเสื้อยืดคอกลมเป็นของที่ระลึก

เที่ยวสูตรใหม่ ปั่นไปปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม


ททท. สำนักงานนครนายก จัดโครงการคืนลาน...สู่ป่า โดยจัดให้มีกิจกรรมคาราวานจักรยาน “ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” เส้นทางกรุงเทพมหานคร – ปราจีนบุรี/อุทยานแห่งชาติทับลาน ในวันที่ 18 - 19 มิถุนายน 2554 ร่วมกับ สาริกาแอดเวนเจอร์พอยท์ อุทยานแห่งชาติทับลาน และสมาคมการท่องเที่ยวปราจีนบุรี เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
สำหรับกิจกรรมคาราวานจักรยานท่องเที่ยว “ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” เริ่มต้นการเดินทางด้วยใจรักษ์กับพลังงานหาร 100 ออกเดินทางโดยขบวนรถไฟสายตะวันออก หัวลำโพง-ปราจีนบุรี ท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองปราจีนบุรี ชมตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 “ตึกแห่งความรักและภักดี/การแพทย์แผนไทยต้นตำรับสมุนไพรไทย – ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เยี่ยมชมแหล่งสะสมของรักของหวง “ตะเกียงโบราณนับหมื่นดวง – พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์” ท่องเที่ยวผจญภัยกับกิจกรรมมันส์ๆ ภายในสวนนงนุช – จิ้งจอกเวหา ด่านเชือกผจญภัย เป็นต้น ยามเย็นร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์หรรษากับบรรยากาศต้นฝน
วันที่สองร่วมกิจกรรม “เที่ยวสูตรใหม่ ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” กับ 3 ฐานกิจกรรม ยิงแม่นๆ ฝากต้นลานคืนป่า ปั่นไป ปลูกไป ด้วยใจรักษ์สิ่งแวดล้อม จากลูกลาน สู่ลานต้นแม่ ก่อนเดินทางกลับโดยขบวนรถไฟรถไฟ สถานีกบินทร์บุรี – สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยสวัสดิภาพ
สถานที่รับสมัคร
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก เลขที่ 182/88 หมู่ 1 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร.0-3731-2282,0-3731-2284 ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.tat8.com ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2554
- บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 เวลา 09.00 – 16.00 น. ติดต่อสอบถามที่โทร.08-7005-3872

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการ 4 ม.-ผลกระทบจากการให้อาหารสัตว์



ผลกระทบจากการให้อาหารสัตว์ป่า (ให้อาหาร = ให้ความตาย)

1. อาหาร อาหารบางชนิดคนกินได้ สัตว์กินได้ อาหารบางชนิดคนกินได้ สัตว์กินไม่ได้ ดังนั้น อาหารที่ไม่เหมาะสม ที่คนให้สัตว์ป่ากินนั้น อาจทำให้สัตว์ป่าเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด หรืออาหารเป็นพิษได้ เช่น กวางกินถุงแกง ขนมปัง เนื้อย่าง ขนม เป็นต้น

2. พฤติกรรมเปลี่ยน พฤติกรรมสัตว์ป่าจะเปลี่ยนไป โดยการออกมาใกล้คนเพื่อขออาหารมากขึ้น อาจเกิดอันตรายในยามที่สัตว์ป่าออกมาขออาหารบนถนนหรือบ้านเรือน ทำให้เจ็บทั้งคนเจ็บทั้งสัตว์ป่า

3. การหากิน พฤติกรรมการหากินก็เปลี่ยนไป ซึ่งตรงประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มักใช้ความคิดและความรู้สึกของตัวเองมาเป็นที่ตั้งว่า สัตว์ป่าอาหารน้อย อาหารขาดแคลน ไม่มีอาหารเพียงพอที่จะกิน ทำให้สัตว์ป่าติดใจในรสชาติอาหารที่คนให้ สุดท้ายก็กินอาหารในป่าไม่เป็น เมื่อหาอาหารเองไม่เป็น ก็อาจเกิดการแก่งแย่ง ต่อสู้กันเอง เพื่อขออาหาร หรือ เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย ต่อสู้กันเองบาดเจ็บ หรือไม่ก็เข้าทำร้าย แย่งของจากคนที่ถืออาหารจนอาจเกิดอันตรายทั้งคนและสัตว์ตามมา

4. คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่า การที่คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่า และการนำอาหารจากคนให้สัตว์ป่านั้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำโรคที่อาจติดต่อกันได้ ระหว่างคนและสัตว์ป่า ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าคนก็มีโรค ในสัตว์ป่าก็มีโรค โรคในคนติดสัตว์ป่าทำให้ตายได้ และโรคในสัตว์ป่าติดในคนก็ทำให้ตายได้ เช่นกัน โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปาราสิต เป็นต้น

5. ขยะหรือเศษอาหาร ขยะหรือเศษอาหารที่มากับอาหารที่ให้สัตว์ป่ากิน หรือสัตว์ป่ามาแย่งกินนั้น หากสัตว์ป่ากินเข้าไป จะทำให้เกิดการอุดตันหลอดอาหาร กระเพาะ หรือลำไส้ อันเป็นสาเหตุทำให้สัตว์เสียชีวิตได้

6. ทำลายสิ่งแวดล้อม ขยะหรือเศษอาหารที่เหลือจากการให้อาหารสัตว์ป่านั้น จะย่อยสลายยาก เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา

7. ขับรถเร็ว ถนนมักเป็นจุดที่สัตว์ป่าออกมาขออาหารที่นักท่องเที่ยวให้อยู่เป็นประจำ ทำให้กีดขวางการจราจร และหากยังมีการขับรถด้วยความเร็ว ไม่ระมัดระวังก็ถือว่าเป็นจุดที่อันตรายจุดหนึ่ง อาจเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า และคนได้รับบาดเจ็บได้

8. พืชต่างถิ่น พืชและผลไม้บางชนิดที่ให้สัตว์ป่ากินเข้าไป อาจเป็นพืชต่างถิ่นที่ไม่เคยมีในป่ามาก่อน พอสัตว์ป่ากินเข้าไปแล้วถ่ายเอาเมล็ดออกมา ก็จะแพร่เจริญเติบโต อาจส่งผลกระทบต่อพืชประจำถิ่นที่มีอยู่เดิมและรบกวนระบบนิเวศ

9. ห่วงโซ่อาหาร เมื่อสัตว์เหยื่อในห่วงโซ่อาหาร เช่น เก้ง กวาง ออกมาใกล้คนเพื่อรอรับอาหารจากคนมากขึ้น ก็จะเป็นการชักนำให้สัตว์ผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร เช่น เสือ หมาใน ซึ่งนอกจากจะกระทบห่วงโซ่อาหารแล้ว การออกมาล่าสัตว์เหยื่อที่อยู่ใกล้คนมากขึ้นอาจเกิดอันตรายแก่คน และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ได้

10. รักตัวเองบ้าง ในสภาวะโลกร้อน นอกจากภัยธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มนุษย์จะต้องได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์ป่าและคนนั้นจะเกิดขึ้นควบคู่กัน วิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คืออย่างไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ “ธรรมชาติก็คืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย หากธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้น หากรักตัวเองก็อย่างทำร้ายตัวเอง หากทำร้ายธรรมชาติก็เท่ากับทำร้ายตัวเอง”

ขอบคุณข้อมูลจาก นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


เปิดโครงการ "ปฏิบัติการ 4. ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่"


“ท่องเที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน.... ด้วยจิตสำนึก สร้างสรรค์ด้วยกัน เข้าใจด้วยหัวใจ เพื่อระบบนิเวศของผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” นายมาโนชน์ การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับสมญานามว่าเป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดของสายน้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำมูล ซึ่งเป็นต้นทุนของแหล่งเก็บน้ำอย่างเช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น นอกจากนี้ภายในผืนป่าอันกว้างใหญ่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์สัตว์นานาชนิด เช่น ช้างป่า กวางป่า เก้ง กระทิง เสือ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก “ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” รวมกับอุทยานแห่งชาติตาพระยา – ปางสีดา – ทับลาน และเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ นายเกรียง ฤทธิ์เจริญ ประธานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืชของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงเป็นที่เลื่องลือในกลุ่มนักท่องเที่ยวว่า “เขาใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและทรงคุณค่า การเดินทางก็สะดวกสบายและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ” อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงเป็นจุดหมายหลักของการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเขาใหญ่ในรอบปี 2553 ประมาณ 700,000 คน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนมีความหลากหลายในพฤติกรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่และระบบนิเวศของผืนป่าอย่างแน่นอน และปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ คือ ขยะและของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาการให้อาหารสัตว์ป่าที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักท่องเที่ยว หรือบางคนก็อาจจะรู้สึกสงสาร หรือสนุก เพียงแค่อยากดูมันใกล้ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะตามมา เช่น สัตว์ป่าเหล่านั้นอาจจะถูกรถชนตาย, สูญเสียสัญชาตญาณของสัตว์ป่าในการหาอาหารกินเอง, พฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่นความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยมายุ่งกับข้าวของของนักท่องเที่ยว แต่ลิงที่อาศัยอยู่บริเวนบ้านพักหรือจุดกางเต็นท์ต่างๆ เข้ามาขโมยของกิน และแย่งอาหารจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคตต่อไป เพื่อรณรงค์ให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในผืนป่าเขาใหญ่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศกับปัญหาขยะ ของเสีย งดให้อาหารสัตว์ป่า รวมทั้งดูแลระบบนิเวศอันทรงคุณค่าของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก จึงจัดโครงการรณรงค์เพื่อการลดขยะและเลิกให้อาหารสัตว์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภายในโครงการมีกิจกรรมที่น่าสำคัญได้แก่ - จัดงานแถลงข่าว (วันที่ 2 เมษายน 2554) เปิดโครงการ “ปฏิบัติการ 4 ม. (ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง) ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่ สุขใจ ท่องเที่ยวไทย อย่างสร้างสรรค์” ร่วมรับฟังการเสวนา 1. บอกกล่าวเล่าความจากกลุ่มตัวแทนเยาวชนกลุ่มใบไม้ 2. การสูญเสียทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ป่า ภัยคุกคามจากนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ 3. วงเสวนา “เที่ยวไทย แนวใหม่ เขาใหญ่ไม่สูญเสีย” - กิจกรรม “ปฏิบัติการ 4 ม. ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่ สุขใจ ท่องเที่ยวไทย อย่างสร้างสรรค์” เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครรักษ์เขาใหญ่ในพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเปิดรับสมัครอาสาสมัครโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับส่งต่อให้กับนักท่องเที่ยว - ดำเนินการรณรงค์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยแบ่งพื้นที่ในการจัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง มุ่งหวังสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบในกลุ่มนักท่องเที่ยวและชุมชนรอบเขาใหญ่ นายบูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานนครนายก กล่าวว่า สำนึก สร้างสรรค์ ด้วยกัน เข้าใจ ด้วยหัวใจ “ท่องเที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน” ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญในการสร้างกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกในการท่องเที่ยวโดยใช้ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างจำกัดและรณรงค์สร้างความรับผิดชอบจากผู้มาเยือน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไปปรับเปลี่ยนระบบนิเวศ โดยเฉพาะพฤติกรรมของสัตว์ คงไม่สามารถจัดการแก้ไขได้โดยภาครัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องใช้การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ร่วมกัน และสิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือ ความรับผิดชอบของตัวนักท่องเที่ยวต่อคุณค่าของผืนป่า มีความรับผิดชอบต่อขยะที่ตนนำขึ้นมา รวมทั้งต้องงดการให้อาหารสัตว์ป่าอย่างจริงจังเพราะโดยธรรมชาติของสัตว์ป่ามีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมสำหรับสภาพร่างกายของตัวสัตว์เอง ททท.สำนักงานนครนายก จึงขอร่วมรณรงค์เชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางพักผ่อนอย่างใจรักษ์สิ่งแวดล้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น – เขาใหญ่ เพื่อเติมเต็มความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติทั้งตา-กาย-ใจ วางแผนก่อนการเดินทาง ศึกษาหาข้อมูลถิ่นที่จะมาเยือน นักเดินทางก็สามารถเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ติดต่อสอบถามข้อมูลและเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงก่อนเดินทางได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก โทร.0-3731-2282, 0-3731-2284 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.tat8.com